ปุ๋ยสูตรโยกหน้า โยกหลัง ของ ดร.รวี กับมะนาวนอกฤดู
“ปุ๋ยสูตรโยกหน้า” เช่น ปุ๋ยสำเร็จรูปสูตร 21-7-14 ก็ใช้ได้ ปุ๋ยสูตรโยกหน้าจะช่วยเพิ่มความแกร่งให้กับเนื้อไม้ ป้องกันการฉีก หัก ของกิ่ง-ต้นได้ การให้ปุ๋ยไม่ควรทิ้งระยะเกิน 1 เดือน/ครั้ง หากกรณีของสภาพดินที่เป็นดินทรายไม่ควรเกิน 15 วัน/ครั้ง หรืออาจใช้หลักการให้ปุ๋ยแบบ “ให้ทีละน้อย แต่ให้บ่อยๆ” ก็ได้ ขณะที่ “การจัดการศัตรูพืช” แนะนำให้ใช้ ระบบ 1-4-7 โดยเริ่มไปตั้งแต่ช่วงที่พืชมีการผลิ “ใบอ่อน” หรือ “ดอกอ่อน” หรือ “ผลอ่อน” ออกมาได้ขนาดประมาณ 2-3 มม. จังหวะนี้เองที่ ศัตรูพืชอาทิ “เพลี้ยไฟ” จะเริ่มเข้าทำลายรวมทั้ง “หนอนชอนใบ” ก็จะเข้ามาวางไข่ด้วย ให้นับเป็นวันที่ 1 ในการฉีดพ่นยาเพื่อป้องกันกำจัด เช่น อะบาเมกติน แล้วก็เว้นวันที่ 2 วันที่ 3 ไปวันที่ 4 ฉีดซ้ำอีกโดยใช้ยาตัวเดิม จากนั้นก็เว้นวันที่ 5 วันที่ 6 ไปวันที่ 7 ฉีดอีกโดยใช้ เมทามิโดฟอส, อะฟีโนฟอส, คลอไพรีฟอสตัวใดตัวหนึ่ง หรือใช้เมทาฯบวกกับไซเปอร์เมทริน เป็นการป้องกันหนอนชอนใบ เพื่อไม่ให้เกิดบาดแผล ซึ่งโรคแคงเกอร์จะเข้าทางบดแผลเท่านั้น ก็จะตัดวงจรของแมลงศัตรูพืชได้พอดี แต่หลังจากนี้ไปแล้วหากพบการระบาดอีกก็ฉีดพ่นยาเพื่อการกำจัดเป็นกรณีๆ ไป หรืออีกวิธีหนึ่งอย่าง
รศ.ดร. รวี กล่าวว่า หลังจากมีการดูแลต้นมะนาวดังที่กล่าวมาแล้ว อายุต้น 6 เดือน และมีขนาดทรงพุ่มตั้งแต่ 1 เมตรขึ้นไป ก็สามารถที่จะเริ่มขั้นตอนการบังคับนอกฤดูเพื่อให้มีผลผลิตได้แล้ว ก็คือประมาณเดือนกรกฎา-สิงหาเริ่มทำการตัดปลายยอด จากนั้นเพื่อกระตุ้นให้สร้าง “ใบอ่อน” ขึ้นมาจะให้ปุ๋ยสูตรตัวหน้าสูงหรือ “สูตรโยกหน้า” เรื่อยไปจนถึงคลี่ใบสุด (ประมาณ 22-30 วัน) โดยในระหว่างนี้เพื่อป้องกันการแตกใบอ่อนชุดที่ 2 ขึ้นมาซ้ำซ้อน เพราะมะนาวที่จะบังคับให้ออกดอก-ติดผลได้ต้องมีอายุใบหรือยอดเกิน 90 วันเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าจะต้องพยายามรักษาใบอ่อนชุดแรกให้มีอายุถึง 90 วันให้ได้ ดังนั้นจึงมีการนำสาร “พาโคลบิวทราโซล” เข้ามาช่วยลดการเจริญเติบโตทางด้านกิ่ง, ใบ และยังเปิดโอกาสให้มีการออก “ดอก” เพิ่มมากขึ้น อัตราที่ใช้ 400 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นให้ชุ่มทั่วทั้งต้นหลังจากตัดยอดได้ 15 วัน นับเป็นการใช้สารครั้งที่ 1 แล้วใบอ่อนชุดแรกมีอายุเลย 30 วันไปแล้วจึงเปลี่ยนสูตรปุ๋ยที่ให้เป็นตัวท้าย (K) สูง หรือ “สูตรโยกหลัง” ซึ่งสัดส่วนที่ให้ก็คือ 1 :1 : 3 หรือ 2 :1 : 3 หรือ 3 : 1 : 4 เช่น สูตร 15-5-20 เพื่อช่วยบำรุงให้ออกดอก ในระหว่างนี้พอครบ 60 วันหลังจากที่ตัดยอดก็จะทำการพ่นสารซ้ำอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 2 อาจร่วมกับการงดน้ำด้วย ในกรณีโครงสร้างดินมีลักษณะเป็นทรายจะทำให้การบังคับด้วยการอดน้ำได้ผลดียิ่งขึ้น และจากการที่ปลูกระยะชิดซึ่งมีการควบคุมทรงพุ่มทำให้พุ่มต้นไม่ใหญ่มากตอบสนองต่อการชักนำให้ออกดอกได้ดีกว่าพุ่มต้นที่มีขนาดใหญ่ จากนั้นพอเลย 90 วันไปแล้ว (ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด) มะนาวจะเริ่มติดดอก-ออกผลต่อไป ต้องมีการดูแลให้น้ำ-ให้ปุ๋ยอย่างเพียงพอและคอยควบคุมศัตรูพืชอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะหลังดอกโรยหรืออายุผลมะนาวในช่วง 2 เดือนแรก จะมีความอ่อนแอต่อ “เพลี้ยไฟ” และ “แคงเกอร์” แต่ถ้าผ่านช่วงนี้ไปได้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหา นอกจากนี้ช่วงมะนาวขยายลูกต้องดูแลเรื่องการให้น้ำอย่างเพียงพอ และสูตรปุ๋ยที่ให้ในช่วงนี้ก็จะเปลี่ยนเป็นสูตร “โยกหน้า” ไปจนกระทั่งถึงเก็บเกี่ยว ซึ่งหากเริ่มทำการบังคับตามรอบที่กล่าวมาจะทำให้มีมะนาวออกมาทันขายในช่วงกุมภา-มีนา-เมษา ได้พอดี
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร. รวี ยังได้กล่าวถึงสาเหตุของการทำมะนาวนอกฤดูแล้วไม่ประสบผลสำเร็จด้วยว่า เป็นเพราะส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจธรรมชาติของต้นมะนาวอย่างดีพอ อาทิ มะนาวจะไม่มีการออกดอกในกิ่งที่มีการติดผลอยู่ ดังนั้นการที่จะให้ต้นมะนาวออกดอกได้ดีตามต้องการจึงจำเป็นต้องกำจัดดอกและผลอ่อนที่ไม่ต้องการในฤดูกาลนั้นออกทิ้งไปเสียก่อน หรือ หลังจากมีการตัดแต่งกิ่งแล้ว ยอดหรือกิ่งมะนาวที่จะสร้างตาดอกได้ต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 90 วันขึ้นไป เป็นต้น โดยนอกจากนี้แล้วการจัดการอื่นๆ ที่จำเป็นต้องผสานร่วมกัน เช่น การจัดการน้ำ (การงดน้ำ), การใช้สารกลุ่มชะลอการเจริญเติบโตพืช (สารพาโคลบิวทราโซล), การปฏิบัติการจัดการทรงพุ่ม (พุ่มต้นที่เล็กกว่าสามารถชักนำการออกดอกเพื่อการผลิตนอกฤดูได้ดีกว่า), โครงสร้างดินที่มีลักษณะเป็นดินทรายมีการระบายน้ำที่ดีจะมีผลทำให้การชักนำการออกดอกได้ดีกว่า และการจัดการเรื่องปุ๋ยที่มีสัดส่วนของ N-P-K เหมาะสมกับการเจริญเติบโตพืชในแต่ละช่วง โอกาสของความสัมฤทธิ์ผลในการบังคับนอกฤดูย่อมสูงตามไปด้วย