ศัตรูพืชที่สำคัญของมะนาว
หนอนชอนใบ (Citrus leaf-miner) Phylocnistis citrella Stainton: Phyllocnistidae ความเสียหายจากหนอนชอนใบมักเกิดกับใบอ่อน แม่ผีเสื้อจะวางไข่ไว้ที่ผิวใบ เมื่อหนอนฟักออกมาเป็นตัวก็จะกัดกินผิวใบ และชอนไชเข้าไปกินอยู่ใต้เยื่อผิวใบ ทำให้เป็นรอยทางวกวนสีขาว ทำให้ใบหงิกงอเสียรูปทรงและแห้ง เป็นช่องทางให้โรคแคงเกอร์เข้าทำลายซ้ำเติม แต่สำหรับมะนาวนี้ทนแต่โรคแคงเกอร์
จึงไม่เกิดผลเสีย แมลงชนิดนี้มีระยะวางไข่ 3-5วัน หนอน 7-10วัน ดักแด้ 5-10วัน และตัวเต็มวัย 5-10 วัน
การป้องกันและกำจัด: ฉีดพ่นยาเมื่อมะนาวเริ่มมียอดอ่อน ใบอ่อน โดยใช้กลุ่มยาอะบาเม็กติน ไซเพอร์เมทริน หรืออะเซทามิพริด
มวนเขียวส้ม (Citrus green stink bug) Rhychocoris Poseidon Kirkaldy: Hemiptera ชื่อเดิม R. humeralis Thunb. ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและผลเป็นรอยจุดสีคล้ำ ผลอ่อนอาจร่วงหล่อนได้
การป้องกันและกำจัด: ฉีดพ่นยาป้องกันและกำจัด โดยใช้กลุ่มยาคาร์บาริล
เพลี้ยไฟพริก (Chili thrips) Scirtothrips dorsalis Hood: Thripidae มีพืชอาหารกว้างขวาง ได้แก่ พริก มะม่วง ส้มเขียวหวาน
ส้มโอ มะกรูด มะนาว องุ่น เงาะ กุหลาบ ทุเรียน บัว มังคุด และมันฝรั่ง เป็นต้น ต้นอ่อน และตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ยอดและผลอ่อน หากการป้องกันกำจัดไม่ดี ยอดจะแคระแกร็นไม่ยึดยาว ใบ และผลอ่อนที่ถูกเพลี้ยไฟทำลาย จะปรากฏรอยสีเท่าเงินเป็นทางและจะเปลี่ยนเป็นแผลแห้งตามผิว เพลี้ยไฟมีการเจริญเติบโตเป็นขั้นตอนที่สมบูรณ์คือมีครบ 4 ระยะของของการเจริญเติบโต ได้ แก่ระยะไข่ ตัวอ่อน ดักแด้ และตัวเต็มวัยใน 1 ชั่วอายุขัยใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 1 เดือน ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยมีสีเหลืองจะถึงเหลืองอมส้ม ตัวเต็มวัยมีปีก 2 คู่ เวลาเกาะจะหุบซ้อนกันอยู่กลางหลัง สามารถบินไปหาแหล่งอาหารแหล่งใหม่ได้
อาการใบอ่อนส้มโอที่ถูกเพลี้ยไฟพริกเข้าทำลาย ทำให้ใบบิดเบี้ยว ใบไม่เหยียดกางออกตามปกติ (ภาพบนซ้าย) เพลี้ยไฟตัวอ่อนมีสีเหลืองอ่อน ไม่มีปีก ดูดกินน้ำเลี้ยงที่ใบอ่อน พบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ จำนวนมาก อาการที่พบในส้มเขียวหวานและส้มเกลี้ยง (ภาพล่าง) มักเห็นชัดเจนที่ยอดอ่อนและผลอ่อน ทำให้ส้มผลเล็กแคระแกร็น และมีรอยเป็นแผลแห้งเป็นทางๆ ถ้าเป็นกับส้มในระยะใกล้เก็บเกี่ยว ทำให้ผิวส้มหรือ
มะนาวไม่สวย จึงทำให้เสียราคา
การป้องกันและกำจัด: ฉีดพ่นยาป้องกันและกำจัด โดยใช้กลุ่มยาอะเซทามิพริด อิมิดาคลอพริด ฟิโพรนิล ไดโนทีฟูแรน
หรือคาร์โบซัลแฟน
ผีเสื้อหนอนแก้วส้ม (Lime butterfly) Papilio demoleus L.,: Papilionidae หนอนของผีเสื้อชนิดนี้มักพบเป็นประจำในแหล่งที่
มีการปลูกพืชตระกูลส้ม เป็นแมลงที่แพร่พันธุ์ได้รวดเร็วและมักเลือกกินยอด ใบอ่อน และดอก วงจรชีวิตระยะไข่ 2-4 วัน หนอน 12-22 วัน
ดักแด้ 8-10 วัน และตัวเต็มวัย 5-10 วัน
ผีเสื้อหางติ่งธรรม (Common mormon) Papilio polytes L.: Papilionidae หนอนของผีเสื้อชนิดนี้กินใบพืชตระกูลส้ม เช่นเดียวกัน วงจรชีวิตใช้เวลาพอๆ กับผีเสื้อหนอนแก้วส้ม ตัวเต็มวัยมีติ่งหาง เพศผู้มีสีดำ เพศเมียมีสีคล้ายผีเสื้อหางตุ้มจุดชมพู คือมีจุด แถบสีชมพู และขาวที่ปีกคู่หลังด้วย
ผีเสื้อฟ้าหนอนมะนาว (Lime Blue) Chilades lajus (Stoll): Lycaenidae เป็นผีเสื้อกลางวันขนาดเล็กคล้ายผีเสื้อหนอนถั่วสีน้ำเงิน แต่ไม่มีติ่งหาง เพศผู้ด้านบนปีกมีสีม่วงอ่อนปนน้ำเงิน มีของสีเข้มแคบๆ ในขณะที่เพศเมียมีขอบปีกเข้มกว้างกว่า(ภาพกลาง) หนอนผีเสื้อชนิดนี้กินใบมะนาว ในส้มโดยเฉพาะยอด และใบอ่อนเป็นอาหาร ถ้าระบาดมากๆ ก็สร้างความเสียหายแก่มะนาวได้
การป้องกันและกำจัด: ฉีดพ่นยาป้องกันและกำจัดเมื่อมะนาวเริ่มมียอดอ่อน ใบอ่อน โดยใช้กลุ่มยาอะบาเม็กติน
ไซเพอร์เมทริน อะเซทามิพริด
ไรเหลืองส้ม (Citrus yellow mite) Eutetranychus cendanai Rimando: Tetranychidae เพศเมียมีสีเหลืองอมเขียว ลำตัวรูปไข่ ส่วนเพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย ลำตัวกว้างทางส่วนหน้า และเรียวแคบทางส่วนหลัง วัย 1-2 มีสีเหลืองอมเขียว วัย 3 มีสีเหลืองแดง ถึงแดง ขาทั้ง4 มีสีจางกว่าสีของลำตัวเล็กน้อย ไรเหลืองส้มเจริญเติบโตจากระยะไข่ ตัวอ่อน ตัวเต็มวัยได้ในเวลา 8-9 วัน ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและผลโดยไม่มีการสร้างใยไว้บนใบ อาจมีผลทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ทิ้งใบและตายได้
ไรขาวพริก (Broad mite, Yellow tea mite) Polyphago tarsonemus latus (Banks): Tarsonemidae ไรขาวพริกมีรูปร่างค่อนข้างกลม หลังโค้งนูน มีวงจรชีวิตสั้น ระยะไข่ ถึงตัวเต็มวัยใช้เวลา 4-5 วันเท่านั้น อาการที่ผลส้มโอที่ถูกไรขาวพริกดูดกิน จะเห็นเป็นรอยด่างสีขาวซีดๆ ผิวค่อนข้างขรุขระ ถ้าระบาดมากๆ จะเป็นรอยขาวไปทั้งผล ทำให้ผลส้มโอไม่โตเท่าที่ควร ผิวมีตำหนิ
ไรแดงแอฟริกัน (African red mite) Eutetranychus africanus (Tucker): Tetranychidae ดูดกินน้ำเลี้ยงที่ด้านบนใบส้ม บางครั้งพบที่ด้านใต้ใบด้วย ทำให้ใบส้มมีสีเขียวจางลง ผิวใบด้าน ไม่มันเหมือนปกติ คราบของไรแดงมองดูคล้ายฝุ่นผง ส่วนที่ผลส้มจะเกิดรอยประสีขาวจางกระจายไปทั่ว ผลส้มมีขนาดเล็กลง หารไรแดงระบาดรุนแรงอาจทำให้ผลร่วงได้ พืชอาศัยชนิดอื่นๆ ที่พบนอกจากพืชตระกลูส้ม เช่น ฝ้าย มะละกอ สาเก ขนุน ขี้เหล็ก มะรุม ถั่วเหลือง ละหุ่ง แตงโม ตำลึง ชบา ข้าวและทุเรียน ไรแดงแอฟริกันมีวงจรชีวิตจากระยะไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัย นานประมาณ 9 วันเศษ
ไรสนิมส้ม (Citrus rust mite) Phyllocoptruta oleivora(Ashmead): Eriophyidae ตัวเต็มวัยมีขนาดเล็กมาก ยากที่จะเห็นได้ด้วยตาเปล่า ลำตัวแบนยาวคล้ายหนอน มีสีเหลืองอ่อน ด้านหน้ากว้างและเรียวเล็กลงทางด้านท้าย ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใต้ใบแต่บางครั้งก็พบที่บนใบด้วย ทำให้ใบกระด้าง และมีสีเขียวคล้ำ ผลส้มที่ถูกดูดกินมีสีเปลือกเปลี่ยนจากเขียวเป็นสีน้ำตาลแดงคล้ายสนิมเหล็ก บางคนเรียกว่า ผิวส้มแบบส้มบางมด เนื่องจากส้มบางมดซึ่งเป็นส้มที่อร่อย มีรสหวาน เนื่องจากส้มบางมดซึ่งเป็นส้มที่อร่อย มีรสหวานจัด ดังนั้นผู้บริโภคส่วนหนึ่งจึงไม่ปฏิเสธส้มผิวไม่สวยแบบส้มบางมด อย่างไรก็ตามการมีไรสนิมส้มลงทำลายมากย่อมกระทบต่อผลผลิตและขนาดของส้มที่ไม่โตเท่าที่ควร
แบ่งปันความรู้จากหนังสือโรคและแมลง ศัตรูพืชที่สำคัญ โดย พิสุทธิ์ เอกอำนวย
การป้องกันและกำจัด: ฉีดพ่นเมื่อพบการระบาดหรือป้องกัน ด้วยกลุ่มยาโพรพาไกต์ ซัลเฟอร์ หรือไพริดาเบน
การป้องกันศัตรูพืช สามารถใช้ชีวภาพหรือสารสกัดจากพืชได้ เพื่อลดต้นทุนและความปลอดภัยของเกษตรกร รวมถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภคด้วย
การกำจัดศัตรูพืช เมื่อพบการระบาดในแปลงนั้นต้องใช้สารเคมีกลุ่มต่างๆ ให้เหมาะสม เพราะบางกลุ่มสามารถควบคุม และกำจัดแมลงได้หลายชนิด ดังนั้นเกษตรกรควรศึกษาและวางแผนให้ดี ศึกษาความคุ้มค่าต่อการลงทุนด้วย และที่สำคัญต้องมีการป้องกันแมลงดื้อยาด้วย
สวนสุระจินดา ได้นำแนวคิดของท่าน รศ.ดร.รวี เสรฐภักดี มาใช้ในการควบคุมและกำจัดแมลง นั่นคือระบบ 1-4-7 นำหลักการมาปฏิบัติ ในการพ่นยาฆ่าแมลง เพื่อให้สามารถความคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ