สรุปขั้นตอนการทำมะนาวนอกฤดูด้วยวิธีพ่นสาร PBZ

การทำมะนาวนอกฤดูด้วยวิธีพ่นสารพาโคลบิวทราโซล (Paclobutrazol; PBZ) ตามแนวทางของท่าน รศ.ดร.รวี เสรฐภักดี แห่งศูนย์วิจัยและพัฒนาไม้ผลเขตร้อน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นวิธีการที่ผมใช้มาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา และมั่นใจว่าเป็นวิธีการที่ได้ผลและสามารถตอบโจทย์การทำมะนาวนอกฤดูได้เป็นอย่างดี
ห้วงการทำนอกฤดูนับจากวันที่เล็มยอดหรือตัดยอดไปจนถึงเก็บเกี่ยวจะกินเวลาประมาณ 8 เดือน หรือ 240 วัน ซึ่งสามารถแบ่งการปฏิบัติที่สำคัญอย่างคร่าวๆในแต่ละช่วงได้ดังนี้
ช่วงที่ 1 เลี้ยงยอด (30 วัน)

1.รักษายอดอ่อนด้วยสูตร 1-4-7 ยอดชุดนี้สำคัญมากเพราะเราจะใช้ในการสังเคราะห์แสงสร้างอาหารอย่างน้อยก็ตลอดช่วงการทำนอกฤดู (หากจำเป็นอาจเพิ่มความเข้มข้นในการรักษายอดอ่อนเป็น 1-4-7-10 ก็ได้)

2.ให้ปุ๋ยสูตรโยกหน้าทั้งทางดินและทางใบ

3.วันที่ 15 หลังเล็มยอด ฉีดพ่นสารพาโคลบิวทราโซล ที่ความเข้มข้น 400 ppm ครั้งที่ 1
ช่วงที่ 2 สะสมอาหาร (60 วัน)

4.ปรับสูตรปุ๋ยทั้งทางดินและทางใบมาเป็นสูตรโยกหลัง

5.วันที่ 60 หลังเล็มยอด ฉีดพ่นสารพาโคลบิวทราโซล ความเข้มข้น 400 ppm ครั้งที่ 2

6.งดน้ำ (ประมาณวันที่ 60-75 หลังเล็มยอด ขึ้นอยู่กับวัสดุปลูก)

7.ขึ้นน้ำโดยให้น้ำอย่างเต็มที่หลังจากงดน้ำจนใบสลด

8.ประมาณวันที่ 80-85 หลังเล็มยอด ฉีดพ่นสารโปแตสเซียมไนเตรท (13-0-46) ความเข้มข้น 5,000 ppm เพื่อทำลายการพักตัวของตาดอก
ช่วงที่ 3 ออกดอก (15 วัน)

1.เริ่มรักษาดอกด้วยสูตร 1-4-7 ทันทีเมื่อตาดอกเริ่มผลิออกมาให้เห็น

2.ช่วงนี้ยังคงให้ปุ๋ยสูตรโยกหลังทั้งทางดินและทางใบ

3.ฉีดพ่นแคลเซียมโบรอนในระยะดอกตูมเพื่อส่งเสริมการผสมเกสร

4.ระยะกลีบดอกโรย-ผลอ่อนเท่าหัวไม้ขีด ให้เริ่มรักษาผลอ่อนด้วยสูตร 1-4-7 ทันที

5. ฉีดพ่น NAA ความเข้มข้น 10-20 ppm เน้นไปที่ขั้วผลเพื่อช่วยให้ขั้วผลเหนียวขึ้น ลดการหลุดร่วง

6.โรคและแมลงศัตรูพืชที่สำคัญช่วงออกดอกได้แก่ รากเน่าโคนเน่า ราดำ เพลี้ยแป้ง หนอนเจาะดอก
ช่วงที่ 4 ติดผล (120-135 วัน)

1.ปรับสูตรปุ๋ยทั้งทางดินและทางใบมาเป็นสูตรโยกหน้าอีกครั้ง+จุลธาตุ พร้อมทั้งเพิ่มปริมาณปุ๋ยที่ให้มากขึ้นกว่าปกติประมาณ 50% หรือมากกว่า หากติดผลดกมาก นับจากนี้เราจะใช้ปุ๋ยโยกหน้าเรื่อยไปจนกระทั่งเก็บเกี่ยว (หากเป็นมะนาวพันธุ์เปลือกหนา อาจปรับไปใช้สูตรโยกหลังช่วงครึ่งหลังอายุผลจะช่วยให้เปลือกบางลง)

2.ธาตุอาหารที่มะนาวมักแสดงอาการขาดในช่วงติดผลได้แก่ แมกนีเซียม และแคลเซียม

3.จัดการโรคและแมลงศัตรูด้วยสูตร 1-4-7 ไปจนถึงช่วงครึ่งอายุผล (ประมาณ 2 เดือน) โดยเว้นระยะห่างรอบละ 15 วัน

4.โรคและแมลงศัตรูพืชที่เพิ่มเติมเข้ามาในช่วงผลกำลังเจริญเติบโต ได้แก่ รากเน่าโคนเน่า ราดำ เมลาโนส เพลี้ยไฟ ไรแดง เพลี้ยแป้ง มวนเขียวส้ม หนอนเจาะผล
ขั้นตอนการปฏิบัติข้างต้นเป็นเพียงกรอบแนวทางกว้างๆของการทำมะนาวนอกฤดู ยังมีปัจจัยที่เป็นตัวแปรอีกมากมายที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้ เช่น สภาพภูมิอากาศ การจัดการน้ำและธาตุอาหาร เป็นต้น
พึงระลึกว่า มะนาวเหมือนเด็กใบ้ มะนาวแต่ละต้นจะไม่เหมือนกัน แม้กระทั่งการตอบสองในแต่ละกิ่งในต้นเดียวกันก็ยังไม่เหมือนกัน ดังนั้น การปฏิบัติเหมือนกันทุกประการทั้งสวนย่อมไม่มีทางได้ผลกับมะนาวเหมือนกันหรือเท่าเทียมกันทุกต้น
พึงตระหนักว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ ต้นมะนาวที่จะทำนอกฤดูต้องมีความสมบูรณ์พร้อมและความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของมะนาวของผู้ปฏิบัติ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะส่งผลให้การทำมะนาวนอกฤดูประสบผลสำเร็จ
และพึงระลึกไว้เสมอว่า "การทำมะนาวนอกฤดูให้สำเร็จ ไม่มีสูตรสำเร็จ"
จบโหมดอุ่นเครื่องมะนาวนอกฤดูเพียงเท่านี้